วัดในสังฆมณฑล

129/18 หมู่ 1 ถนนนิตโย  ตำบลหมากแข้ง  อำเภอเมือง  จังหวัดอุดรธานี  41000

(ตู้  ป.ณ.  4  ปท.  โพศรี อ.เมือง  จ.อุดรธานี  41002 )  โทร.  042 223513

 

วัดแม่พระรับสารเป็นวัดน้อยของอารามคณะซิสเตอร์กลารีสกาปูชิน  ซึ่งเดินทางมาจากอารามบ้านโป่ง  ไปประจำที่อุดรธานี  วันที่  2  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2522  มีจำนวน  9  คนเมื่อกลุ่มคณะเดินทางไปถึงอาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์  ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพระคุณเจ้ายอด  พิมพิสาร  คณะนักบวชชาย  หญิง  และสัตบุรุษ  วันที่  21  เมษายน  พ.ศ.  2522  มีพิธีเสกวัด

ปัจจุบัน  (ค.ศ.  1998)  อยู่ในความดูแลของ  คุณพ่อมีชัย  อุดมเดช  คณะพระมหาไถ่  ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสประจำอาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์

มีมิสซาเช้า                                              เวลา  6.30  น.  ยกเว้นวันอาทิตย์

วันเสาร์  มิสซาภาษาอังกฤษ เวลา  17.30  น.

วันอาทิตย์                                              เวลา  15.30  น.  พิธีอวยพรศีลมหาสนิท

บางครั้งมีกิจกรรมพิเศษในโอกาสเตรียมฉลองนักบุญผู้ตั้งคณะ  หรือวันส่งท้ายปีเก่า  เชิญนักบวชและบรรดาสัตบุรุษร่วมสวดทำวัดเย็น  พร้อมกับหมู่คณะ  โดยมีพระคุณเจ้าหรือคุณพ่อเจ้าวัดเป็นประธาน

 

129/18 หมู่ 1 ถนนนิตโย  ตำบลหมากแข้ง  อำเภอเมือง  จังหวัดอุดรธานี  41000

(ตู้  ป.ณ.  4  ปท.  โพศรี อ.เมือง  จ.อุดรธานี  41002 )  โทร.  042-222206


เมื่อวันที่  7  พฤษภาคม  ค.ศ.  1953  สี่จังหวัดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือแห่งสังฆมณฑลท่าแร่  คือ  อุดรธานี  ขอนแก่น  หนองคาย  และเลย  ได้ถูกแยกออกจากการปกครองของสังฆมณฑลนี้  และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสังฆมณฑลใหม่เรียกว่า สังฆมณฑลอุดรธานี ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของคณะพระมหาไถ่  แห่งเมืองเซนต์หลุยส์  มลรัฐมิสซูรี่  ประเทศสหรัฐอเมริกา สังฆมณฑลที่ตั้งขึ้นใหม่นี้มีเนื้อที่ 46,547 ตารางกิโลเมตร และมีประชากร ( ในปี 1971 ) ประมาณ 2,879,885 คน

ในวันที่  4  ธันวาคม  ค.ศ. 1953  คุณพ่อคลาเรนซ์  ดูฮาร์ต  สงฆ์คณะพระมหาไถ่  ได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขปกครองสังฆมณฑลใหม่  พระสงฆ์ที่ทำงานในสังฆมณฑลนี้เป็นพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่  คาทอลิกในช่วงแรกของสังฆมณฑลมีทั้งชาวไทยและชาวเวียดนามอพยพเกือบ  3,000  คน  คาทอลิกในเขตอุดรธานีเป็นชาวเวียดนามอพยพเป็นส่วนใหญ่  กลุ่มคาทอลิกชาวไทยก็มีแต่ที่บ้านโพนสูงเท่านั้น

เนื่องจากอุดรธานีเป็นชื่อของสังฆมณฑล  และเป็นเมืองใหญ่  และสำคัญในอาณาเขตการแพร่ธรรมใหม่  จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะจัดหาซื้อที่ดิน  เพื่อกิจการของวัดและทางสังฆมณฑล  พระคุณเจ้าดูฮาร์ต  ด้วยความช่วยเหลือของ  คุณพ่อคาร   โสรินทร์  ได้จัดหาซื้อที่ดินสามแห่ง  ซึ่งอยู่คนละทิศทางของตัวเมืองอุดรธานี  แห่งแรกสำหรับสร้างวัดและบ้านพักของประมุขมิสซัง  ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก

ปี  ค.ศ.  1954  พระคุณเจ้าดูฮาร์ต  ได้สร้างวัดน้อยขึ้นที่บ้านจิก  เพื่อเป็นศูนย์กลางของสังฆมณฑลในเขตเมืองอุดรธานี  วัดน้อยนี้ได้รับการเสกเมื่อวันที่  19  ธันวาคม  ค.ศ.  1954  โดยให้ชื่อวัดนี่ว่า วัดแม่พระนิจจานุเคราะห์ จึงเรียกได้ว่าเป็นอาสนวิหารหลังแรกของเขตเมืองอุดรธานี  วันอาทิตย์แรกที่เปิดใหม่  นับสัตบุรุษได้  13  คน  และทั้งหมดเป็นชาวเวียดนามอพยพ

ที่ดินอีกแปลงอยู่ไกลไปประมาณสี่กิโลเมตรทางไปจังหวัดหนองคาย  วัดเตรียมไว้สำหรับการสร้างโรงเรียน  ซึ่งในเดือนพฤษภาคม  ค.ศ.  1957  โรงเรียนดอนบอสโกวิทยา  ก็ได้ทำการเปิดสอนนักเรียน  โรงเรียนแห่งนี้เปิดเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กนักเรียนชายโดยเฉพาะ  อยู่ใต้การดูแลของคณะนักบวชซาเลเซียน

ที่ดินแปลงที่สาม  ซึ่งอยู่ไกลออกไปประมาณสี่กิโลเมตรเช่นกัน  บนเส้นทางไปจังหวัดสกลนคร  ได้จัดเตรียมไว้สำหรับสร้างโรงเรียนเหมือนกัน  แห่งสุดท้ายนี้มีเนื้อที่กว้างขวางมากคือ  57  ไร่  ในสมัยนั้นอยู่ไกลจากตัวเมืองมาก  ซึ่งในอนาคตต่อมาคือในเดือนพฤษภาคม  ค.ศ.  1961  คณะนักบวชซาเลเซียนหญิง  หรืออีกชื่อหนึ่งคือ  ซิสเตอร์คณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์  ได้เข้ามาดำเนินงานเปิดโรงเรียนสตรีขึ้น  คือ โรงเรียนเซนต์แมรี่ อุดรธานี

ในปีต่อมาก็เริ่มงานเกี่ยวกับเด็กกำพร้าที่โรงเรียนแห่งนี้ด้วย  ได้มีโครงการส่งเสริมและฝึกคอาชีพให้แก่เด็กยากจนจากในเมืองและชนบท  โรงเรียนเซนต์แมรี่แห่งนี้ก็เหมือนกับโรงเรียนดอนบอสโกวิทยา  ได้เป็นกำลังสำคัญและได้ช่วยให้เขตวัดอุดรธานีก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาและได้ทำให้ชื่อเสียงของพวกเราชาวคาทกลิก  เป็นที่รู้จักในเมืองอุดรธานี  และเมืองใกล้เคียงจนถึงทุกวันนี้  และอาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์ก็เป็นที่รู้จักกันในชื่อทั่วไปว่า โบสถ์เซนต์แมรี่

ส่วนเรื่องการสอนคำสอน  การโปรดศีลล้างบาปในเขตวัดอุดรธานี  ได้มีบันทึกไว้ตั้งแต่ปลายปี  ค.ศ.  1948  โดยคุณพ่อคาร  โสรินทร์  ซึ่งดูแลคริสตังสมัยก่อนยังไม่แยกสังฆมณฑล  พระคุณเจ้าดูฮาร์ต  ก็ทำหน้าที่เจ้าอาวาสต่อมาตั้งแต่กลางปี  1954  เป็นต้นมา  จำนวนคาทอลิกในเขตเมืองอุดรธานีทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

ในวันที่  21  เมษายน  ค.ศ.  1966  ได้มีการอภิเษกเป็นพระสังฆราชของพระคุณเจ้าดูฮาร์ตเป็นพระสังฆราชองค์แรกของสังฆมณฑลอุดรธานี  และท่านก็ยังรักษาหน้าที่เจ้าอาวาสต่อไป  และมี  คุณพ่อวิลเลี่ยม  ไรท์  มาเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้วย  ขณะเดียวกันก็มีการก่อสร้างอาสนวิหารหลังใหม่  สร้างแล้วเสร็จในปี  ค.ศ.  1968  คุณพ่อไรท์  ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเขตอำเภอท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่  คุณพ่อโรเบิร์ต  มาร์ติน  ย้ายมาเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระคุณเจ้าดูฮาร์ต  และในปีต่อมาก็เป็นเจ้าอาวาสเป็นต้นมา  และพักประจำอยู่ที่อาสนวิหารหลังใหม่  ส่วนพระคุณเจ้าดูฮาร์ต  ยังคงอยู่ที่บ้านจิก  และรับผิดชอบดูแลคริสตังรอบนอกอำเภอเมือง  คือที่ กุมภวาปี  และหนองบัวลำภู  คุณพ่อมาร์ตินเป็นเจ้าวัดนานถึง  6  ปี  คุณพ่อเลารี่  มาแทน  แต่อยู่ไม่นานคุณพ่อก็กลับอเมริกา

ในช่วงที่ขาดคุณพ่อเจ้าวัด  มีคุณพ่อหลายองค์ผลัดเปลี่ยนกันมารักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสอาสนวิหาร  เช่น

1. คุณพ่อวัลลภ     จำหน่ายผล                                       2. คุณพ่อวิเชียร    ลิขิตธรรม

3. คุณพ่อธนู        กระทอง                                             4. คุณพ่อจอห์น    ทาบอร์

พระสังฆราชยอด  พิมพิสาร  ได้รับการอภิเษกเป็นประมุขของสังฆมณฑลอุดรธานี  เมื่อวันที่  12  ธันวาคม  ค.ศ.  1975  ณ  อาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์  อุดรธานี และได้สืบตำแหน่งจากพระสังฆราชดูฮาร์ต เป็นต้นมา  และได้สร้างสำนักพระสังฆราชแห่งใหม่เช่นเดียวกัน  ส่วนบริเวณวัดบ้านจิก  บ้านพักพระสังฆราชเดิมนั้นได้ปรับปรุงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางที่พักของซิสเตอร์คณะรักไม้กลางเขนแห่งท่าแร่  และซิสเตอร์ได้ดูแลโครงการบ้านพักคนชรา  ซึ่งในปี ค.ศ.  1976  สมาคมนักบุญวินเซนต์เดอปอล  คณะมนตรีสังฆมณฑลอุดรธานี  ได้ริเริ่มโครงการนี้เพื่อคนชราที่ขาดที่พึ่ง  ไม่มีที่อยู่อาศัยนำเขาเหล่านั้นมาอยู่ให้มีชีวิตรอด  สถานที่พักสร้างขึ้นโดยใช้เศษไม้จากห้องแถวเก่าหลังอาสนวิหารใหม่และต่อเติมเล็กน้อย  ขณะเดียวกันก็มีสถานเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน  เพื่อเป็นรายได้ช่วยเหลือในโครงการบ้านพักคนชรา  คณะวินเซนต์เดอปอล  ยังช่วยเหลือทางวัดเกี่ยวกับงานด้านสังคมสงเคราะห์

ในปี  ค.ศ.  1978  คุณพ่อชาร์ล  โกแตนท์  รับหน้าที่เจ้าอาวาสต่อมา  และดูแลสัตบุรุษเป็นปกติ  จนหมดวาระของคุณพ่อ  โดยมีคุณพ่อบุญรอด  เวียงพระปรก  เป็นปลัดผู้ช่วยในกลางปี  1981  คุณพ่อเลโอ  แทรวิส  พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะแขวงของคณะพระมหาไถ่  ได้ย้ายมารับตำเจ้าอาวาสอาสนวิหาร  โดยมีคุณพ่อสมพงษ์  เตียวตระกูล  เป็นปลัดผู้ช่วยคุณพ่อเลโอ  แทรวิส  เป็นเจ้าอาวาสเป็นเวลานานถึง  6  ปี  ในสมัยของคุณพ่อก็ได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะหลังคาอาสนวิหารและกิจการอื่นๆทางด้านอภิบาลสัตบุรุษ  คุณพ่อมนู  เพียรโคตร  และ คุณพ่อปรีดา  โอนากุล  เป็นปลัดช่วยวัดใหญ่ในสมัยคุณพ่อเลโอ  แทรวิสเป็นเจ้าอาวาส  และคุณพ่อพ้นหน้าที่ไป  คุณพ่อประสิทธ์  ตรงสหพงศ์  เข้ามารับหน้าที่แทนเป็นเวลา  3  ปี

จากนั้นก็มีการโยกย้ายซึ่งคุณพ่อที่ได้มาอยู่ช่วงนี้คือ คุณพ่อศิริชัย   เล้ากอบกุล เข้ามารับหน้าที่เป็นเวลา 3 ปี คุณพ่อเลโอ  แทรวิส ก็ได้ย้ายกลับเข้ามาเป็นเจ้าอาวาสอีกนับเป็นวาระที่  3  ที่คุณพ่อได้มาช่วยงานในเขตวัดอุดรธานีของเรา  และเนื่องจากทางคณะต้องการให้กลับไปช่วยงานของคณะที่กรุงเทพฯ  เมื่อมีการโยกย้ายท่านจึงได้จากอุดรฯไปด้วยความอาลัย

ค.ศ.  1998  มีพระสงฆ์  2  องค์มาทำงานแทนท่าน  คือ  คุณพ่อมีชัย  อุดมเดช  คณะพระมหาไถ่  เป็นเจ้าอาวาส และ คุณพ่อปรีดา  โอนากุล  เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส

ด้านหลังของอาสนวิหาร  มีอารามกาปูชิน  เป็นอารามชีลับแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่  2  กุมภาพันธ์  ค.ศ.  1979  มีภคินี  10  คน  จากอารามชีลับบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี  และจำเป็นต้องสร้างขึ้นอีก  เพราะจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น  จึงได้สร้างขึ้นอีกเมื่อปี  ค.ศ.  1982  ในวันธรรมดาสัตบุรุษร่วมมิสซากับชีลับที่วัดของอารามแห่งนี้  ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญแห่งหนึ่งของวัดอุดรธานี  ทั้งด้านการภาวนาและความช่วยเหลือทั่วไป  และอยู่ใกล้กันนั้นก็มีบ้านพักซิสเตอร์คณะธิดาเมตตาธรรม  สมาชิกของคณะทำงานด้านศูนย์พัฒนาเด็ก  ซี.ซี.เอฟ.

ที่อาคารศูนย์คาทอลิกสังฆมณฑลอุดรธานี  มีศูนย์พัฒนาเด็ก  ซี.ซี.เอฟ.  ซึ่งเป็นโครงการในด้านการสงเคราะห์และพัฒนาเด็กยากจน  หน่วยงานนี้แบ่งเบาภาระของพ่อแม่เด็ก  ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด  ซึ่งอาศัยในเขตอาสนวิหารพระมารดานิจจานุเคราะห์  อุดรธานี

ทางด้านกิจการคาทอลิกวัดแม่พระนิจจานุเคราะห์  ก็ได้จัดให้มีสภาอภิบาล  องค์กรซึ่งมีมาเป็นเวลาช้านานและได้ทำงานด้านฝ่ายวิญญาณช่วยเหลือพระสงฆ์ตลอดมา  คือ  คณะพลมารี  ทางด้านเยาชนก็เช่นเดียวกัน  มีการจับกลุ่มและทำประโยชน์ให้ทางวัดและสังคมมาโดยตลอด  สมาชิกมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่โอกาส  เพราะเยาวชนเป็นวัยผ่านสู่วัยผู้ใหญ่  จึงไม่มั่นคงและถาวรเท่าที่คาดไว้  เพราะบางคนเข้าสู่ชีวิตครอบครัว  บางคนก็อพยพไปอยู่กรุงเทพฯ  เพื่อหางานทำและเหตุผลอื่นๆ

ประวัติย่อๆ  ของอาสนวิหารพระมารดานิจจาจุเคราะห์  อุดรธานี  ตั้งแต่ปี  ค.ศ.  1954  ที่พระคุณเจ้าดูฮาร์ต  ได้สร้างวัดน้อยที่บ้านจิก  เพื่อเป็นสถานภาวนาและถวายบูชามิสซาของสัตบุรุษเพียงสิบกว่าคน  จนถึงทุกวันนี้  วัดน้อยได้กลายเป็นอาสนวิหารใหญ่  ให้บริการด้านอภิบาลสัตบุรุษหลายพันคน

 

คาทอลิกมัลติมีเดี่ย

Banner
Banner
Banner
Banner
Banner